ไหมยกดอก
ศิลปะบนผืนผ้าค่าควรเมือง
ช่างทอที่นี่ถักทอต่อสาย เป็นลายล้ำค่าให้ผู้ครอบครองได้ภาคภูมิที่เป็นเจ้าของผลงานศิลปะชั้นสูง คนที่ได้เห็นลวดลายวิจิตบรรจงของไหมยกดอกของที่นี่แล้ว ยินยอมน้อมใจเรียกช่างทอเป็นศิลปิน
ศิลปินไหมยกดอกของลำพูน เคยถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการคัดลอกลายพระภูษาโบราณแล้วทอขึ้นใหม่ ทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้ทอผ้าไหมยกดอกสำหรับเป็นฉลองพระองค์ และโปรดเกล้าให้นำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ
กรมศิลปากรยังวางใจให้คัดเลือกลายโบราณที่ได้ศึกษาและเก็บรวบรวมไว้ แล้วทอขึ้นใหม่ คงรูปแบบให้เหมือนเดิมเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
ผ้าไหมยกดอกของลำพูน ถูกถวายเป็นส่วนหนึ่งของฉลองพระองค์ พระจักรพรรดินีญี่ปุ่น เป็นของถวายแก่พระราชอาคันตุกะ และแขกบ้านแขกเมืองจนถึงปัจจุบัน ไม่นับที่ส่งขายสร้างชื่อเสียงทั่วโลก จนมีผู้ส่งออกผ้ายกดอกเป็นการเฉพาะกว่าสิบราย
การทอผ้ายกหรือการยกมุก เป็นวิธีการทอให้เกิดลวดลาย โดยการยกตะกอแยกด้ายเส้นยืน และในบางครั้งการยกดอกจะมีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งจำนวนสองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไปในผืนผ้า
ลวดลายจะวิจิตรบรรจงละเอียดมากน้อยเพียงใด อยู่ที่การสาวไหมแยกใส่ในตะกอเพื่อต่อลาย ยิ่งตะกอมากลวดลายยิ่งละเอียด ผ้าไหมผืนงามบอบบางสุดวิจิตร บางผืนแยกไหมในตะกอหลายสิบตะกอ ราคาผืนละหลายหมื่นบาท ไม่มีใครปฏิเสธ
ผ้าไหมยกดอกมีมาแต่ช้านาน ความวิจิตรบรรจงในการถักทอ ความบอบบางของเนื้อผ้า และความล้ำค่าหายาก ทำให้มีใช้กันเฉพาะในราชสำนัก และบุคคลชั้นสูงนุ่งห่มกันในวาระอันสำคัญ พระราชพิธีต่าง ๆ
ท่านออสคาร์ คยุคออฟ ก๊อตแลนด์ แห่งสวีเดน ครั้งเสด็จเป็นพระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกในจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ไว้ว่า
“เครื่องทรงของพระราชินี ซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคด (ไหมยกดอก) สีทอง ๆ เงิน ๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบ ๆ ทำด้วยไหมทองมีจุดขาว มีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวม ๆ ทรงสนับพลาหรือผ้าทรง แบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่งเป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง”
คนลำพูนนั้นทอผ้าใช้เองมาแต่นมนาน ผ้ายกดอกนั้น ก็มีใช้กันอยู่แต่เดิม แต่เป็นการทอยกดอกในผ้าฝ้าย เป็นลวดลายไม่วิจิตรนัก กระทั่งพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในรัชการที่ 5 ซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจง ซึ่งพระองค์ได้เรียนรู้มาจากราชสำนัก ให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย และเจ้าหญิงลำเจียก ธิดาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ การทอผ้าไหมยกดอกจึงเผยแพร่ทั่วไป คนรุ่นหลังได้เรียนรู้การทอผ้ายกดอกจากคนในคุ้ม
ต่อมาลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกที่สำคัญของไทย
พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ผ้าไหมยกดอกหรือผ้าไหมทอด้วยฝีมือประณีตจากลำพูน เป็นที่ต้องการทั่วไปไม่เฉพาะแต่ในราชสำนักเท่านั้น คนลำพูนที่มองการณ์ไกลเริ่มสร้างโรงงานทอผ้ายกดอกออกจำหน่าย จนเป็นหัตอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อ มีการทอผ้าไหมยกดอก และผ้าฝ้ายยกดอกด้วยกี่พื้นเมืองกันแทนทุกบ้าน ล้วนถ่ายทอดมาแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทั้งลวดลายและวิธีการทอ
แม่เวลาจะผ่านไปกว่าร้อยปี แหล่งผลิตศิลปะวิจิตบนผืนผ้าของคนลำพูนยังอยู่ที่เดิม จิตวิญญาณของพวกเขายังผูกพันอยู่กับที่ ฟืม ตะกอ และลวดลายบนผลงานที่เปลี่ยนแปลงไปน้อยมากจากรุ่นบรรพบุรุษ
จะเดินข้ามสะพานท่าสิงห์ หรือขัวมุง หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย หรือจะขับรถอ้อมไปในเส้นทางเลียบสวนลำไยแถวนั้น ตำบลเวียงยองแหล่งผลิตผ้าทอยกดอกที่ขึ้นชื่อของลำพูนก็ง่ายต่อการเข้าถึง
ถนนฝ้ายแกมไหม ขนาบด้วยสวยลำไย จะพาเราผ่านหมู่บ้านหลากหลายที่ทอดผ้ายกดอกกันเป็นล่ำเป็นสัน บางรายทำผ้าฝ้ายยกดอก บางรายทำไหมยกดอก และบางรายทำทั้งสองอย่าง หมู่บ้านที่มีช่างทอพื้นบ้านทำงานต่อเนื่องมากกว่าร้อยปีอย่างบ้านแม่สารบ้านตอง และบ้านศรีเมืองยู้ ยังคงมีเสียงกี่กระทบอยู่ต่อเนื่อง
หลายสิบบ้านเปิดเป็นร้านให้ซื้อหาในราคาเปี่ยมน้ำใจถามรอยยิ้ม เลือกแวะชมสัมผัสความงดงามของผ้าได้ตลอดเวลา
หากไปฤดูลำไยจะได้ชิมลำไยจากต้นเป็นของแถมแน่นอน
ผ้าฝ้ายทอยกดอกผืนหนึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าจะสำเร็จ หากเป็นไหมยกดอกจะใช้เวลามากกว่านั้นเกือบเท่าตัว ราคาที่ขายกันในหมู่บ้าน นับว่าถูกมากเมื่อคิดถึงเส้นทางของผ้าแต่ละผืน กับความละเอียดประณีตที่สัมผัสได้ ไม่แปลกใจที่เห็นคนไทยคนเทศพากันเข้าไปเสาะหาซื้อเอาจริงเอาจัง
ชื่อตำบลเวียงยองนั้น ชัดเจนกว่าเป็นแหล่งของคนยอง ที่ปัจจุบันเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองนี้ คนยองมีสำเนียงพูดล่องไหลเหมือนดนตรี มีฝีมือทางศิลปะ สาวชาวยองผิวผ่องเหมือนหยวกกล้วย วันสรงน้ำพระธาตุจะเห็นพวกจะเห็นพวกเธออุ้มขันน้ำมาร่วมพิธีแต่งแต้มให้พิธีงามเหมือนฝัน
ปี พ.ศ. 2325 ผู้นำล้านนาร่วมกันขจัดอิทธิพลพม่าไปได้ เมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะเชียงใหม่ยังร้าง เนื่องจากผู้คนพากันละทิ้งหนีภัยสงครามที่ยืดเยื้อหลายสิบปี พญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่พยายามรวบรวมให้ผู้คนกลับมาอยู่ในตัวเมือง อีกทางหนึ่งได้ยกกำลังออกไปเกลี้ยกล่อมและตีหัวเมืองตอนเหนือ แถบเมืองเชียงแสนเชียงตุง พยาก เมืองยอง รวบรวมผู้คนเชื้อสาย ไตยอง ไตลื้อ และไตเขิน มาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่และลำพูน ใช้เวียงป่าซาง ลำพูนเป็นที่รวบรวม เรียกกันว่าการ “เก็บฮอมตอมไพร่”
เฉพาะชายไตยองนั้น ได้มากแบบครัวนับหมื่นคน ชาวลำพูนส่วนใหญ่ จึงเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยองเมื่อ 200 ปีก่อน ปี พ.ศ. 2348 พญาลำพูนไชย เจ้าผู้ครองนครองค์แรก ได้ให้คนยองที่กวดต้อนมาครั้งนั้น รวมกันสร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำกวงด้านตรงข้ามกับองค์พระธาตุหริภุญชัย
กลุ่มชนเหล่านี้ต่อมาคือช่างทอผ้า สล่าช่างฝีมือ และผู้คนที่เจรจาภาษาดนตรีอยู่ริมแม่น้ำกวง อ่านต่อ...