|
|
|
|
ข่าวประชาสัมพันธ์ > สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย
|
วันที่ 6 ม.ค 63 |
|
|
|
เวลา 14.22 น. วันที่ 6 มกราคม 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย จังหวัดลำพูน โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยสักการะพระรูปพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ผู้ทรงสร้างความเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นในดินแดนแถบนี้มาจนถึงปัจจุบัน จากนั้น ทอดพระเนตรการทอผ้าท้องถิ่นด้วยเทคนิคและลวดลายต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าไหมยกดอกลำพูน อาทิ ลายดอกมะลิซ้อนสอดเกสร, ลายเงี๊ยวประยุกต์ และลายดอกฝิ่น สังเวียนโบราณ การทอผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นการใช้เทคนิคการทอยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า เป็นที่มาของคำว่ายก อันมีลักษณะการทอเส้นไหมที่เชิดขึ้นเรียกว่ายก และเส้นไหมที่จมลงเรียกว่าข่ม แล้วพุ่งกระสวยเข้าไประหว่างกลาง โดยจะเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้นไว้ เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายที่โดดเด่นงดงามขึ้นมา
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการชุดไทยพระราชนิยม ผ้าไหมยกดอก และผ้าหายากในล้านนา รวมถึงนิทรรศการการแต่งกายของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นผ้าไหมประเภทแรกของโลก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในประเทศไทย เมื่อปี 2550 นอกจากนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ในประเทศอินโดนีเชีย และอินเดียด้วย สถาบันผ้าทอหริภุญชัย ถือเป็นศูนย์กลางผ้าไหมยกดอกของจังหวัดลำพูน เป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านการทอผ้าของชาวลำพูนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีเอกลักษณ์โดดเด่นให้คงอยู่สืบไป
จากนั้น เสด็จไปยังหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ 17 จังหวัด พร้อมพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อ ยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มสมาชิก และผู้ประกอบการนำสินค้ามาจัดแสดง จำนวน 87 ร้าน อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย, ผ้าบาติก, ผ้าชนเผ่า, ผ้าปักมือ, ผ้าไหม เครื่องประดับและกระเป๋า การเสด็จไปทอดพระเนตรการทอผ้าท้องถิ่นของจังหวัดลำพูน และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือในครั้งนี้ ด้วยทรงมีพระประสงค์ที่จะยกระดับสินค้าพื้นเมืองภาคเหนือให้เป็นที่รู้จักและสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่มากขึ้น ยังความปลื้มปิติและสำนึกในพระกรุณาธิคุณแก่กลุ่มสมาชิกและผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง
|
|
|
|