Messages in this topic - RSS

Home » ความรู้เรื่องผ้าไหม » กว่าจะเป็นผ้าไหมไทย...

ความรู้เรื่องผ้าไหม
|
30/4/2555 16:23:04

admin
admin
Administrator
Posts: 5
ไหมเป็นสิ่งล้ำค่ามากกว่าสิ่งทออื่นจนได้รับสมญานามว่า“ราชินีแห่งเส้นใย” กระบวนการผลิตผ้าไหมเพื่อให้ได้คุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น จำเป็นต้องอาศัยฝีมือความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกันอย่างมาก เพื่อผลิตเส้นไหมที่มีคุณภาพดีเยี่ยม กระบวนการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมเส้นไหม จนถึงการทอที่รังสรรค์ผืนผ้าไหมให้เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น


ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมและผลิตภัณฑ์ไหมที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะผ้าไหมไทยซึ่งจัดว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับและได้ความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยผ้าไหมไทยนั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม ประณีต นุ่มเนียน มีความเลื่อมเป็นมันเหลือบแสงเงา มีลวดลายและสีสันที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ต่างจากผ้าไหมประเทศอื่น


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าไหม จึงโปรดให้ราษฎรในโครงการศิลปาชีพใช้เส้นไหมพื้นเมืองในการทอผ้าไหมด้วยเหตุผลสองประการคือ


๑.การใช้เส้นไหมพื้นเมืองในการทอทำให้ผ้าไหมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ คือ ผืนผ้าจะมีความเป็นเงาเลื่อมมัน เป็นปุ่มปม ย้อมสีติดดี มีความยืดหยุ่น ความต้องการผ้าที่เป็นปุ่มปมมากหรือน้อยก็สามารถเลือกใช้เส้นไหมที่มีความเหมาะสมได้ คือผ้าไหมที่ต้องการมีปุ่มปมมาก ให้ใช้เส้นไหมสามหรือไหมลืบ (เส้นไหมที่สาวได้จากเปลือกรังไหมชั้นนอก) แต่ถ้าต้องการผ้าไหมไทยที่มีปุ่มปมไม่มากนัก ให้ใช้เส้นไหมหนึ่งหรือเส้นไหมน้อย (เส้นไหมที่สาวจากเปลือกรังไหมชั้นใน)


๒.ไหมพันธุ์ไทยพื้นเมือง เป็นพันธ์ุไหมที่มีความแข็งแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไหมพันธุ์ลูกผสม เกษตรกรเลี้ยงไหมได้ง่ายเพราะเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ เกษตรกรสามารถที่จะทำการผลิตไหมที่เป็นหัตถกรรมแบบครบวงจร คือปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสีไหม และทอผ้าไหม
การที่ทรงส่งเสริมให้ใช้พันธุ์ไหมพื้นเมืองนับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาการผลิตไหมไทย จึงโปรดเกล้าฯให้แนะนำเกษตรกรให้ใช้เส้นไหมไทยพื้นเมืองในการทอผ้าการผลิตสินค้าไหมหัตถกรรมมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนประกอบด้วยหลายขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมการสาวไหม การฟอก ย้อม การทอ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ความสามารถ และความชำนาญที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ผลิตอาจจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด หรือเพียงบางขั้นตอนเท่านั้น


การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม


เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพรองจากการทำนาส่วนใหญ่เลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตรังไหมสีเหลือง

การสาวไหม
รังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านสีเหลืองที่เกษตรกรผลิตได้ จะถูกนำมาสาวด้วยมือเพื่อผลิตเป็นเส้นไหมโดยใช้เครื่องสาวไหมแบบง่ายๆ ที่ทำขึ้นโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีความแตกต่างกันไปดังนั้นเส้นไหมที่ผลิตจึงมีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

การฟอกย้อมสีไหม
ผ้าไหมไทยดั้งเดิมนั้นเกษตรกรจะฟอกย้อมโดยสีธรรมชาติที่ได้จากการสกัดจากพืชในแต่ละท้องถิ่น สีต่างๆสามารถผลิตได้โดยการนำพืชชนิดต่างๆ มาผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษในปัจจุบันมีการใช้สีเคมีในการฟอกย้อมสีไหมมากขึ้น แต่การใช้สีเคมีสำหรับไหมเลือกชนิดของสีเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การทอผ้าไหม
กระบวนการทอผ้าไหมเป็นกระบวนการผลิตที่สำคัญที่สุดกระบวนการหนึ่งในการผลิตผ้าไหม ผ้าไหมไทยมีความแตกต่างจากไหมที่ผลิตจากทั่วโลก เนื่องจากการผลิตไหมไทยเป็นวิธีการที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยระสบการณ์ ทักษะ และความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา การทอผ้าไหมเริ่มจากการทอของอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กในประเทศไทย การทอผ้าไหมส่วนใหญ่ทอด้วยกี่มือทั้งกี่ทอพื้นเมืองและกี่กระตุก วิธีการและเทคนิคการทอผ้าไหมในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเพณีวัฒนธรรม และองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่น และมีชื่อเสียงมากในด้านผ้าไหมทอมือ

ผ้าไหมไทยมีความโดดเด่นในเนื้อผ้าและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงในเรื่องของความสวยงามที่มี
เอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากทำด้วยฝีมือที่ประณีต มีความนุ่มนวลความแวววาว สีสันดึงดูดใจลูกค้า และมีลวดลายที่เป็นลวดลายศิลปะทำให้ไหมไทยแตกต่างจากไหมทั่วโลกในบรรดาผ้าไหมที่เป็นสินค้าหัตถกรรมที่ผลิตในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ที่จำหน่ายในตลาดมีหลายรูปแบบทั้งในรูปแบบผ้าไหมผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ของที่ระลึก ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเหล่านี้ได้จากการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น สร้างสรรค์จากความรักและผูกพันของผู้ผลิตในแต่ละรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นผลผลิตที่ออกมาจึงสะท้อนถึงแหล่งผลิต การออกแบบ ลวดลาย สีสัน แม้กระทั่งวิธีการทอมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับพื้นที่ผลิต
0 permalink
|

Home » ความรู้เรื่องผ้าไหม » กว่าจะเป็นผ้าไหมไทย...





Powered by Jitbit Forum 7.2.13.0 © 2006-2011 Jitbit Software