Messages in this topic - RSS

Home » ความรู้เรื่อง GI » สาระน่ารู้เกี่ยวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย

ความรู้เรื่อง GI
|
30/4/2555 15:49:24

CMUAdmin
CMUAdmin
Administrator
Posts: 7
เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้มี การพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางด้านการค้าของประเทศต่อไป ทั้งนี้ โดยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นมีความต้องการที่จะเสริมสร้างและรักษาภาพพจน์ในสินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่นของตน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า โดยกำหนดให้มีการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ และห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันจะทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้าที่ระบุในทะเบียน ในขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีตามข้อ 22 ถึงข้อ 24 ของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าในภาคผนวกท้ายความตกลงมาร์ราเกซจัดตั้งองค์การการค้าโลก แต่กฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับนโยบายการให้ความคุ้มครองและรองรับพันธกรณีดังกล่าวข้างต้นได้ จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ขึ้นมา ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 ได้ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 28 เมษายน 2546 เป็นต้นไป



สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546
พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดคำนิยามของ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ไว้ว่าหมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งทางภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว
โดยได้บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่ชื่อสัญลักษณ์ หรือ เครื่องหมายที่แสดงแหล่งผลิตสินค้าที่จะนำมาขึ้นทะเบียนตามกฎหมายกำหนดไว้ 4 ประการคือ
1. ชื่อสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกแทนแหล่งภูมิศาสตร์
กล่าวคือ สิ่งที่จะนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ได้นั้น จะต้องเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่สามารถใช้แสดงถึงแหล่งพื้นที่ โดยแหล่งทางภูมิศาสตร์นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามเขตการปกครองเช่น จังหวัด อำเภอ เท่านั้น แต่อาจเป็นชื่อภูมิศาสตร์ในลักษณะอื่น ๆ ก็ได้ เนื่องจากมาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดประเภท
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แบ่งตามลักษณะของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็น 2 ประเภท คือ
1.1 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ โดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ Bordeaux /หิมาลัย เป็นต้น
1.2 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) คือสัญญาลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดของสินค้า เช่น สัญญาลักษณ์ประจำอำเภอหรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอไอเฟล หอเอนเมืองปีซ่า เป็นต้น
2. ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กับสินค้า
พระราชบัญญัติกำหนดให้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น จะต้องสามารถบ่งบอกได้ถึงคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าที่ผลิตจากแหล่งพื้นที่นั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงคำว่า “ไข่เค็มไชยา” ผู้บริโภคจะนึกถึงคุณภาพ หรือลักษณะของไข่เค็มที่มีลักษณะฟองโตมีไข่แดงใหญ่มันเยิ้ม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ผู้ยื่นคำขอจะต้องบรรยายให้เห็นว่า แหล่งพื้นที่นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้านั้นอย่างไร ลักษณะเด่นของสินค้าทางภูมิศาสตร์ที่มาจากพื้นที่การผลิตนั้น มีความแตกต่างจากสินค้าเดียวกันที่มาพื้นที่อื่น มีความแตกต่างหรือความโดดเด่นของสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้นั้น เกิดได้หลายลักษณะ เช่น ในคุณภาพวัตถุดิบที่มีเฉพาะในแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ขั้นตอนหรือวิธีการผลิตที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นใดท้องหรือในทักษะการผลิตหรือการแปรรูปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งในการขอรับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผู้ขอจะต้องแสดงให้ปรากฎได้ว่ามีความเชื่อมโยงอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งบ่งชี้ทางทางภูมิศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดหรือได้รับความสนใจจากผู้บริโภคได้ จะต้องคุณลักษณะพิเศษที่ชัดเจนประกอบกันอยู่หลายประการจนผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือและยอมรับว่าสินค้าจากแหล่งนี้ที่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์รับรองเท่าที่จะมีคุณภาพเช่นนี้
3. ไม่เป็นชื่อสามัญ
สิ่งบ่งชี้ทางทางภูมิศาสตร์ที่จะนำมาขึ้นทะเบียนได้นั้นจะต้องไม่มีลักษณะเป็นชื่อสามัญของสินค้า ซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะต้องไม่เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานสินค้าชนิดนั้น เช่น คำว่า “บรั่นดี” หมายถึงสุราหมักจากเมืองบรั่นดี ประเทศฝรั่งเศส แต่ต่อมาได้มีการใช้ชื่อดังกล่าวเรียกขานสินค้า จนทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า “บรั่นดี” เป็นชื่อของสุราชนิดหนึ่ง แทนที่จะเป็นสุราจากเมืองบรั่นดี เป็นต้น
4.ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
พระราชบัญญัติได้ห้ามมิให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยของศีลธรรมอันดี หรือนโยบายแห่งรัฐ (มาตรา5) เช่น การนำเอาชื่อทางภูมิศาสตร์มาขึ้นทะเบียนไม่สุจริต
กรณีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นแล้ว และได้มีการใช้สืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน จะขอรับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ได้บทบัญญัติใน(3)นี้เป็นตามมาตรา 24 วรรค 9 ของความตกลง TRIPs ที่ว่า “ความตกลงนี้ไม่ก่อพันธกรณีในการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือสิ้นสุดที่จะได้รับการคุ้มครองในประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสิ่งบ่งชี้ที่ไม่มีการใช้แล้วในประเทศนั้น” ดั้งนั้น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้ความคุ้มครองจึงสามารถใช้ได้โดยอิสระในประเทศสมาชิกของความตกลง TRIPs พระราชบัญญัติจึงบัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองชนิดนี้ไม่สามารถจดทะเบียนได้

การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไป อาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ

ระดับปกติ (ตามมาตรา 27) ใช้กับสินค้าทั่วไป โดยมุ่งป้องกันมิให้มีการนำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไปใช้ในลักษณะ ที่จะทำให้คนสับสนหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้านั้น เช่น ผู้ผลิตไข่เค็มที่เชียงใหม่ ไม่สามารถใช้คำว่า “ไข่เค็มไชยา” กับสินค้าของตนได้ หากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าไข่เค็มของตนมาจากอำเภอไชยา

ระดับพิเศษ (ตามมาตรา 28) ใช้กับสินค้าเฉพาะอย่าง (ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง) เป็นการห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นทุกกรณี แม้จะไม่ได้ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดก็ตาม เพื่อคุ้มครองไม่ให้มี การแสดงให้ทราบถึงแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าโดยใช้คำว่า “ชนิด” หรือ “แบบ” หรือคำทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ TRIPS ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกประเทศสมาชิก WTO จะต้องให้ความคุ้มครองสินค้าประเภท ไวน์และสุรา ในระดับพิเศษ ตัวอย่างการคุมครอง GI ในระดับพิเศษนี้ เช่น ผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยไม่สามารถใช้คำว่า “Bordeaux” ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างโดยอ้อม เช่น ผลิตแบบ Bordeaux หรือชนิดเหมือน Bordeaux หรือแม้จะได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นไวน์ ที่ผลิตในไทยก็ตาม เป็นต้น


แหล่งที่มา : คุณ ศิริพร บุญชู
รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และมาตรฐานหม่อนไหม
กรมหม่อนไหม
edited by CMUAdmin on 30/4/2555
0 permalink
|

Home » ความรู้เรื่อง GI » สาระน่ารู้เกี่ยวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทย





Powered by Jitbit Forum 7.2.13.0 © 2006-2011 Jitbit Software