|
30/4/2555 15:43:56
CMUAdmin Administrator Posts: 7
|
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก ( World Intellectual Property Organization: WIPO ) ซึ่งถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1883 เป็นองค์การสากลองค์การแรกที่ทำหน้าที่ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อาทิข้อตกลงแมดริด (Madrid Agreement) ซึ่งตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1891 (แก้ไขเพิ่มเติม ปี ค.ศ. 1967) ได้ออกกฎเรื่องการระบุแห่งผลิตของสินค้า และข้อตกลงลิสบอน (Lisbon Agreement ) ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 (แก้ไขเพิ่มเดิมในปี ค.ศ. 1979 ) มีใจความสำคัญเรื่องการปกป้องชื่อแหล่งกำเนิดและการขึ้นทะเบียนระหว่างประเทศอีกทั้งมีการประชุมที่สเตรสซา (Stresa Convention ) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1951 อันเป็นการประชุมนานาชาติว่าด้วยการระบุแหล่งที่มาและชื่อของเนยแข็ง จากการประชุมและข้อตกลงต่าง ๆ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเหล่านี้ แสดงให้เห็นจุดยืนขององค์การนี้ได้ว่า มีจุดมุ่งหมายในการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันเห็นได้จากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 สหภาพยุโรปให้ความสนใจเรื่องการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ดังจะเห็นได้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) ออกกฎหมายเลข 2081/92 เรื่องการปกป้องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และการระบุแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 และกฎของสหภาพยุโรป (EC) หมายเลข 40/94 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 1993 เรื่องเครื่องหมายการค้าของประชาคมยุโรป เมื่อมีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก ( World Trade Organization: WTO) ขึ้นในปี ค.ศ. 1994 มีการออกกฎเกณฑ์เพื่อทำความตกลงเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Intellectual Property Rights: TRIPS) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาชนิดต่าง ๆ และมีขอบเขตการทำงานในการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตร (Patents) ลิขสิทธิ์ (Copyrights) เครื่องหมายการค้า (Trademaks) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) งานแบบอุตสาหกรรม (Industrial Designs) และการออกแบบวงจรรวม (Layout Designs of Integrated Circuits) WIPO และ WTO ทำข้อตกลงในความร่วมมือในการใช้ข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1996 ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและกฎต่าง ๆ ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและความช่วยเหลือทางกฎหมายเทคนิค ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสองระดับ คือ การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แบบทั่วไป (มาตรา 22) และการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แบบเข้มงวด (มาตรา 23) กล่าวคือ (1) การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แบบทั่วไป กล่าวถึงวิธีในการระบุสินค้าที่มีแหล่งที่มาจากภาคีสมาชิก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียง หรือลักษณะพิเศษอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะจำเพาะของแหล่งที่มานั้น ๆ โดยประเทศภาคีสมาชิกจะต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ชื่อที่มีการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าที่มิได้มีแหล่งผลิตในทางภูมิศาสตร์ ณ ที่นั้นจริง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้บริโภคหลงเชื่อการโฆษณาของสินค้าชนิดนั้น รวมทั้งการกระทำใด ๆ ที่ขัดข้องต่อการค้าเสรีภายใต้ความหมายของมาตรา 10 (ทวิ) แห่งอนุสัญญากรุงปารีส (Paris Convention) ที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. 1967 อีกทั้งภาคีสมาชิกจะต้องไม่รับขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่มีการละเมิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ผู้บริโภค (2) การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แบบเข้มงวด เป็นการคุ้มครองเพิ่มเติมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับไวน์และสุราเป็นพิเศษโดยเพิ่มกฎเกณฑ์นอกเหนือจากการออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ชื่อที่มีการบ่งชี้ทาภูมิศาสตร์กับสินค้าที่มิได้มีแหล่งผลิตในทางภูมิศาสตร์ ณ ที่นั้นจริง ให้รวมถึงการห้ามมิให้ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในคำแปลหรือมีสิ่งแสดงประกอบ เช่น ชนิด ประเภท แบบ และการเลียนแบบเป็นต้น อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในระหว่างภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลกโดยแบ่งแยกความเห็นออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายโลกเก่า (Old World) กับ ค่ายโลกใหม่ (New World) กล่าวคือ ค่ายโลกเก่า (Old World) ซึ่งนำโดยสหภาพยุโรป บัลแกเรีย สาธารณรัฐเชค อินเดีย และสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศคิวบา ไซปรัส จอร์เจีย ฮังการี ไอซ์แลนด์ เคนยา ลิกเทนสไตน์ มัลต้า มอริเชียส ปากีสถาน โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวาเนีย ศรีลังกา ตุรกี และไทยนั้น ต้องการใช้นโยบายการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แบบเข้มงวด กับสินค้าประเภทอื่น ๆ ดุจเดียวกับที่บังคับใช้กับไวน์และสุรา โดยค่ายโลกเก่านี้เชื่อว่า การทำเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถปกป้องสินค้าที่มีการลงทะเบียนไว้ในระบบได้อย่างแท้จริง ค่าโลกใหม่ (New World) ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา อาร์เจรติน่า ออสเตรเลีย และชิลี โดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารรัฐโดมิกัน เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา นิวซีแลนด์ ปารากวัย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันนั้น ไม่ต้องการให้มีการขยายการใช้นโยบายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างเข้มงวด จากไวน์และสุราไปสู่สินค้าอื่น ๆ อันจะส่งผลให้ประเทศในค่ายโลกใหม่เสียเปรียบจากการไม่สามารถใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้
แหล่งที่มา : คุณ ศิริพร บุญชู รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม edited by CMUAdmin on 30/4/2555
|
|
0
• permalink
|
|
Powered by
Jitbit Forum 7.2.13.0
© 2006-2011 Jitbit Software